การจัดการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล
ปัจจุบันขยะทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญ เนื่องจากทะเลทั่วโลกเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในระยะยาวเรากำลังเผชิญกับขยะที่ล่องลอยจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่สร้างปัญหามากมายในทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทำให้แนวปะการังและท้องทะเลเสื่อมโทรมลง ทำลายทัศนียภาพของชายหาดและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ
การจัดการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล หลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจทางทะเล (blue economy) การหารือออกในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลในภูมิภาค ทั้งด้านการใช้นโยบายและการบริหารจัดการ รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
ประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คิดริเริ่มที่จะแก้ไขปัญหาขยะทะเล ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก จึงได้หารือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการริเริ่มสร้างความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้จัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียนขึ้น ในระหว่างวันที่ 22 23 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา
และได้มีมติครม. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล จำนวน 2 รายการ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล ซึ่งการประชุมดังกล่าวใช้ชื่อภาษาไทยว่า "การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris จัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะ สุโขทัย เขตสาทร กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวถือเป็นความคิดริเริ่มของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 และเพื่อให้ประเทศอาเซียนมีเวทีในการหารือและหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมด้านการต่อสู้กับขยะทะเลและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและภาคีผู้สนับสนุน เพื่อจัดการกับปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอย่างสอดคล้องกัน รวมถึงจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะของขยะทะเลและด้านมลพิษจากขยะทะเลในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งถือเป็นการเปิดเวทีเจรจาในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกในลำดับต่อไป
จะเห็นได้ว่าอาเซียนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล โดยมีความร่วมมือกันในกรอบอาเซียนอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีแนวทางแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยได้รับการแลกเปลี่ยนวิธีการ นวัตกรรมในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทยช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว นักลงทุน อีกทั้ง ประเทศไทยยังได้แสดงบทบาท ศักยภาพ ความพร้อม ในการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาคมโลกอีกด้วย
เรียบเรียง/อินโฟกราฟิก อาเซียน กปส. |