ปัญหาขยะถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ที่ จ.กาญจนบุรี มีโครงการความร่วมมือการบริหารและจัดการขยะมูลฝอย ที่หน่วยทหาร จังหวัด ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้บริหารจัดการขยะร่วมกัน ในพื้นที่ เนินเขาทอง ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก และถือเป็นการแก้ไขปัญหาขยะแบบครบวงจร เราจะไปดูว่าชุมชนกับขยะเป็นล้านๆ ตัน เขาอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ที่บริเวณเนินเขาทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทิ้งขยะทับถมเป็นบริเวณกว้างจาก 53 ไร่ และถูกบุกรุกทิ้งขยะเพิ่มเติมไปแล้วรวมกว่า 100 ไร่ มีขยะที่สะสมมากกว่า 100,000 ตัน ซึ่งนอกจากจะสร้างมลพิษด้านกลิ่นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคแล้ว ที่นี่ยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากไฟไหม้กองขยะ เนื่องจากการสะสมของก๊าซมีเทนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดย พล.ต.รังษี กิติญาณทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและที่ปรึกษา ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้รับผิดชอบพื้นที่ นายสมชาย ฟักทอง นายก อบต.แก่งเสี้ยน รวมทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 ได้ร่วมกันประชุมและลงนาม MOU
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ใน "โครงการความร่วมมือการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะแบบบูรณาการ รักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมเดินหน้าบริหารจัดการขยะมูลฝอย พร้อมพัฒนาที่ทิ้งขยะให้เป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการขยะแห่งแรกของไทย โดยมีการขยายระยะเวลาในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยนเป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มต้นด้วยการจัดการปัญหาให้เป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการปรับสภาพของกองขยะที่สะสมมานานให้เป็นพื้นที่ราบ เพื่อให้ขยะถูกแสงอาทิตย์ ให้ขยะแห้ง พร้อมไปสู่ขั้นตอนการคัดแยกขยะ และปรับพื้นที่กองขยะเก่าทั้งหมด จากนั้นจะนำขยะเก่าเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการหมักแห้ง แปรรูปเป็นปุ๋ยแจกจ่ายให้กับประชาชนส่วนขยะใหม่ก็จะดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับประมาณ 10 ไร่ แยกห่างออกจากกองขยะเก่าอย่างเป็นสัดส่วน นับว่าเป็นพื้นที่แรกที่มีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ
ก่อนหน้านี้ กองพลทหารราบที่ 9 จะได้สั่งการให้กำลังพลฉีดน้ำยาอีเอ็มเพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน แต่ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องเร่งบริหารจัดการขยะเพื่อมิให้เกิดปัญหากับชุมชน ด้านนายสมชาย ฟักทอง นายก อบต.แก่งเสี้ยน ผู้รับผิดชอบโครงการเห็นว่าการกำจัดขยะที่ดีที่สุดนั่นคือผลิตให้เป็นกระแสไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องผ่านการประชาพิจารณ์ร่วมกับประชาชนก่อนดำเนินการ อย่างเปิดเผย โปร่งใสตามข้อกฎหมาย ซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยร้อยละ 65 และไม่เห็นด้วยร้อยละ 35
พลเอกสมชาย วิษณุวงษ์ ที่ปรึกษาโครงการฯ ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจจากรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้นำคณะกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ภายหลังเสร็จสิ้นการทำประชาพิจารณ์ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส เมื่อทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน เมืองกาญจน์จะมีพลังงานโรงไฟฟ้า ที่เกิดจากการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบและจะเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะแห่งแรกของประเทศ
ผู้สื่อข่าว : มัทณียา มากสมบูรณ์
ผู้เรียบเรียง : ศนัฏฐ์ชล สุ่มสมบูรณ์
แหล่งที่มา : สวท.กาญจนบุรี
ภาพจากไทยรัฐ |