ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง) จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 28 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 17 20 พฤศจิกายน 2559 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งมีหัวข้อหลักของการประชุมปีนี้ที่สาธารณรัฐเปรูเป็นเจ้าภาพ คือ "การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและการพัฒนามนุษย์
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หนึ่งในผลงานที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในเอเปกปีนี้ คือ ผลการศึกษาการจัดทำเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก หรือที่เรียกว่าเอฟแทป ซึ่งสมาชิกได้ร่วมมือกันจัดทำอย่างแข็งขันตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลจากผลการศึกษาดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปกต่อไป ทั้งนี้ การจัดทำเขตการค้าเสรีเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของเอเปกและตั้งเป้าให้เป็นความตกลงที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานสูง
นอกจากนี้ เอเปกยังเล็งเห็นบทบาทของภาคบริการที่จะเป็นจักรกลสำหรับการเจริญเติบโตในอนาคต และตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ จึงได้จัดทำแผนการทำงานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคบริการของเอเปกภายในปี 2025 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่สำคัญของปีนี้
นายวินิจฉัย กล่าวว่า ในส่วนของไทยจะผลักดันเรื่องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกได้อย่างมั่นคง โดยไทยเองคำนึงถึงบทบาทที่สำคัญของ SMEs ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมให้ SMEs นำเทคโนโลยีมาใช้งาน รวมทั้งจะได้มีโอกาสเน้นย้ำถึงการที่ไทยกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมฯ จะมีโอกาสที่จะได้พบหารือกับผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและขยายการค้าระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
นายวินิจฉัย กล่าวทิ้งท้ายว่า "เอเปกเป็นกรอบความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนการดำเนินการอย่างสมัครใจ และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสมาชิก ทำให้เอเปกเป็นเวทีที่ช่วยผลักดันประเด็นการค้าการลงทุนให้มีความคืบหน้า และเอเปกมีแนวทางที่จะร่วมมือกันต่อไปเพื่อทำให้การค้าและการลงทุนในภูมิภาคมีความสะดวกและเสรียิ่งขึ้น
เอเปกเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัว-นิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา เป็นกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยระหว่างเดือนมกราคม กันยายน 2559 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปกมีมูลค่า 211,601.60 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.83 ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออก 108,757.82 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 67.78 และการนำเข้า 102,843.77 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 72.15
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ |