โดย พนารัช ปรีดากรณ์
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสังคมปัจจุบันก้าวล้ำไปอย่างยิ่งยวด สิ่งที่เรียกกันว่าโลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อผู้คนในสังคมไม่ว่าเป็นเรื่องความบันเทิง การดำเนินชีวิต การหาข้อมูลข่าวสาร กระบวนการทำงาน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารคนก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือกระทำการต่าง ๆ ในทางที่เป็นการละเมิดต่อผู้อื่นในลักษณะต่าง ๆ ทั้งเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ใช้หลอกลวงฉ้อฉลในระดับปัจเจกชน ครอบคลุมไปจนกระทั่งการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ แม้ว่าการทำธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง ๆ จะมีกฎหมายรองรับผลของการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ก็ตาม
ภัยคุกคามด้านสารสนเทศและช่องโหว่ของระบบสารสนเทศได้สร้างช่องทางใหม่ของการก่ออาชญากรรมในรูปแบบที่อาจเรียกกันว่าอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Computer crime) หรืออาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber crime) ซึ่งก็คือการก่ออาชญากรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการกระทำนั่นเอง ในที่นี้เพื่อให้มีความครอบคลุมและเข้าใจได้กว้างกว่าจึงใช้คำว่าอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Crime) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า E-Crime ซึ่งหมายถึงการกระทำผิดกฎหมายใด ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ อันทำให้เหยื่อได้รับความเสียหายและผู้กระทำได้รับผลประโยชน์ตอบแทน อาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ ณ ที่ใด ๆ เวลาใด ๆ ไม่จำกัดระยะทาง แม้แต่ข้ามประเทศก็สามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกระทำอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเหมือนอาชญากรรมรูปแบบเดิม
รูปแบบของการก่ออาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหลากหลาย อาทิ การโจรกรรมหลักฐานการยืนยันตัวตนของบุคคลอื่น (Identity Theft) อันถือเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เป็นการกระทำการโดยไม่ชอบเพื่อให้ได้มาหรือใช้ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นโดยฉ้อฉล โดยมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเงิน สิ่งของหรือบริการต่าง ๆ หรือให้ได้มาซึ่งเอกสารที่ทางราชการออกเพื่อนำไปใช้โดยฉ้อฉลต่อ วิธีการอาจใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ Hack เข้าไปในระบบและเข้าไปเอาข้อมูลส่วนตัวในระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของบุคคลอื่นโดยไม่มีอำนาจ
สำหรับการคุ้มครองการกระทำที่เกี่ยวกับการโจรกรรมหลักฐานการยืนยันตัวตนของบุคคลอื่นนี้ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพื่อใช้เป็นบทลงโทษทั้งปรับและจำคุก โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เป็นการกระทำความผิดที่กระทบต่อการรักษาความลับ (Confidentiality) ความครบถ้วน (Integrity) และสภาพพร้อมใช้งาน (Availability) ของระบบคอมพิวเตอร์จึงควรได้รับความคุ้มครอง
อาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จัดแบ่งได้เป็น 8 ประเภท ได้แก่
(1) การเข้าถึงระบบและข้อมูลโดยมิได้รับอนุญาต
(2) การปลอมแปลงระบบหรือข้อมูลและการสวมรอยเป็นบุคคลอื่น
(3) การขโมยข้อมูล
(4) การทำลายระบบหรือก่อกวนให้ระบบไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ
(5) การส่งแสปม โฆษณาชวนเชื่อ และอีเมล์หลอกลวงต่าง ๆ
(6) การเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
(7) การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และ
(8) การก่อการร้าย
ด้วยลักษณะของการก่ออาชญากรรมประเภทนี้ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่รับผลจากการก่ออาชญากรรม ทำให้ในกรณีของการกระทำผิดข้ามประเทศจะถูกจัดเป็นอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และแน่นอนที่หากต้องการปราบปรามย่อมต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน อาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติคงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เสาการเมืองและความมั่นคงอาเซียนต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่ม ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะกรณีที่เป็นอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายข้ามชาติ รวมไปถึงการละเมิดซึ่งความมั่นคงและสถาบันแห่งชาติของประเทศสมาชิกใด ๆ โดยแนวทางความร่วมมือของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ดำเนินการมานั้นจะกระทำผ่านการปะชุมรัฐมนตรีโทรคมนาคมและสารสนเทศอาเซียน
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ
กรมประชาสัมพันธ์ |