ใกล้เข้ามาทุกทีกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะที่แต่ละประเทศในอาเซียนต่างเตรียมพร้อมรับมือในด้านต่าง ๆ กันอย่างเต็มที่ เรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือการเปิดน่านฟ้าเสรีของประเทศในอาเซียน ซึ่งการเปิดน่านฟ้าเสรีนี้จะนำไปสู่การพัฒนาในหลาย ๆ ด้านตามมา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า การคมนาคม และการขนส่ง
ประเทศที่น่าจับตามองตอนนี้ประเทศหนึ่งคือ กัมพูชา ที่เวลานี้ได้เปิดน่านฟ้าเสรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันกัมพูชาเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว ยิ่งเมื่อประเทศกัมพูชาประกาศเปิดน่านฟ้าเสรีซึ่งจะทำให้การคมนาคมขนส่งทางอากาศมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้กัมพูชาเป็นที่สนใจของนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
ด้วยความที่ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเปิดน่านฟ้าเสรีจึงตอกย้ำให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตก้าวรุดไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ธุรกิจ ท่องเที่ยว" เวลานี้นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวในกัมพูชามากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นปลายปีนี้จึงเป็นการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ทุกประเทศล้วนแต่พยายามผลักดันให้ตัวเองเป็น "ศูนย์กลางของอาเซียน" และพยายามพัฒนาประเทศตัวเองอย่างเต็มที่ เป็นการแข่งขันที่เรียกได้ว่ายากพอสมควร
สำหรับประเทศไทยไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น การเปิดน่านฟ้าเสรียังส่งผลไปถึงภาคการลงทุนของนักธุรกิจจากประเทศอื่น ๆ ที่อยากจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา เพราะเมื่อเขาสามารถที่จะทำการคมนาคมขนส่งได้สะดวก ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้กัมพูชาน่าเข้าไปลงทุน กัมพูชานั้นโดยปกติเป็นประเทศที่นักลงทุนส่วนมากให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ครบถ้วน และมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แรงงาน" เป็นแรงงานราคาถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งเสริมต่อการลงทุนของนักธุรกิจ
ขณะที่รัฐบาลกัมพูชาก็มองเห็นจำนวนเม็ดเงินที่นักลงทุนเหล่านั้นหอบหิ้วเข้าไปจำนวนมาก ข้อที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการเปิดน่านฟ้าเสรีของกัมพูชาเป็นเรื่องของการเกิดใหม่หรือฟื้นคืนของสายการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สายการบินต้นทุนต่ำ" ที่ในช่วง 6 - 7 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว เช่น สายการบินนกแอร์ของประเทศไทย หรือสายการบินไทเกอร์แอร์เวย์ของประเทศสิงคโปร์ ทั้งสองสายการบินนี้เป็นสายการบินที่เปิดเส้นทางบินได้ไม่นาน และเมื่อเปิดสายการบินใหม่ย่อมส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจการบินยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น มีผลต่อ "ราคาค่าโดยสาร" ทำให้ค่าโดยสารของสายการบินยิ่งถูกลงก็ยิ่งเพิ่มแรงดึงดูดสำหรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยว
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยดูแล้วจะเห็นว่าไทยเองก็มีความตั้งใจที่จะผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินในแถบภูมิภาคอาเซียนและไทยก็มีการเปิดน่านฟ้าเสรีเช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีข้อเสียเปรียบคือ ปัญหาด้านการเมือง เชื่อมโยงไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเติบโต เนื่องจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลไม่เป็นจริง และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการแข่งขันเพื่อเป็น "ศูนย์กลางการบิน" ในภูมิภาคอาเซียน ไทยได้ดูแลในเรื่องการกำหนดการบินและมีการเปลี่ยนการบินในลักษณะสายเดียวให้เป็นหลายสายทำให้เส้นทางการบินขยายตัวออกไป ส่งผลดีต่อการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน ทำให้มีสายการบินใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การคมนาคมขนส่งทางอากาศมีความสะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเอาใจใส่ดูแลในเรื่องนี้แต่ประเทศไทยคงต้องตระหนักถึงมาตรฐานและคุณภาพของสายการบินเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะสายการบินภายในของประเทศไทยได้ "ธงแดง" จากการประเมินประสิทธิภาพจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO และ ICAO ได้ให้ประเทศไทยทำแผนแก้ไขอยู่ขณะนี้
ปัญหาในส่วนนี้เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเรื่องมาตรฐานการบินประเทศไทยอยู่อันดับสุดท้ายของกลุ่มประเทศในอาเซียน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างจริงจังและทำให้ได้ มิฉะนั้นอาจทำให้สายการบินในประเทศไทยถูกสั่งห้ามบินเข้าบางประเทศเลยทีเดียว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลเสียต่อประเทศไทยอย่างมาก ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การค้า การคมนาคมขนส่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาระดับชาติ
ณกฤช เศวตนันทน์
ประชาชาติธุรกิจ |