โดย สันติพจน์ กลับดี
มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำและเผยแพร่ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) เป็นประจำทุกปี เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมใน 2 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนถึงการปกป้องสุขภาพมนุษย์ที่ได้รับอันตรายจากสิ่งแวดล้อม และดัชนีด้านการอยู่รอดของระบบนิเวศ เพื่อการสะท้อนถึงการปกป้องระบบนิเวศและการจัดการทรัพยากร โดยแต่ละแต่ละด้านใหญ่ประกอบด้วยด้านย่อยต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (environment health) จำแนกเป็น
1.1 ผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact) ได้แก่
- การเสียชีวิตของเด็ก
1.2 คุณภาพอากาศ (Air Quality) ประกอบด้วย
- คุณภาพอากาศในครัวเรือน
- อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน
- อนุภาคฝุ่นหยาบขนาดเกิน 2.5 ไมครอน
1.3 น้ำและสุขาภิบาล (Water & Sanitation) ประกอบด้วย
- การเข้าถึงน้ำดื่ม
- การเข้าถึงสุขาภิบาล
2. ด้านการอยู่รอดของระบบนิเวศ (Ecosystem Vitality) จำแนกเป็น
2.1 ทรัพยากรน้ำ (Water Resources) ประกอบด้วย
- การบำบัดน้ำเสีย
2.2 ด้านเกษตร (Agriculture) ประกอบด้วย
- การอุดหนุนการเกษตร
- การควบคุมสารกำจัดศัตรูพืช
2.3 ป่าไม้ (Forest) ได้แก่
- พื้นที่ป่า
2.4 ประมง (Fisheries) ประกอบด้วย
- แรงกดดันจากการทำประมง (เช่น การใช้อวนลาก)
- มวลปลาย้ายถิ่น
2.5 ความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งที่อยู่อาศัย (Biodiversity & Habitat) ประกอบด้วย
- การปกป้องชีวนิเวศของชาติ
- การปกป้องชีวนิเวศของโลก
- พื้นที่คุ้มครองทางทะเล
- การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยที่อยู่ในขั้นวิกฤติ
2.6 สภาพภูมิอากาศและพลังงาน ประกอบด้วย
- แนวโน้มการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์
- การเปลี่ยนแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
- แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
หลังจากเก็บข้อมูลของแต่ละประเทศได้ครบทุกด้านแล้วจะใช้วิธีการทางสถิติคำนวณหาดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศในลักษณะของดัชนีรวมที่สร้างมาจากดัชนีย่อยต่าง ๆ ในแต่ละด้าน แล้วจึงปรับค่าที่คำนวณได้ให้อยู่ในช่วงระหว่าง 0-100 เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ โดยค่าที่ต่ำกว่าจะแสดงถึงการมีสมรรถนะต่ำกว่าและค่าที่สูงกว่าจะแสดงถึงการมีสมรรถนะที่สูงกว่า ซึ่งตามรายงานครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเยลได้แสดงผลดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 178 ประเทศ ในที่นี้เลือกมาเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน ผลเป็นดังตาราง
จากตาราง จะเห็นว่าสมรรถนะทางสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียนแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยในที่นี้ผู้เขียนขอจำแนกกลุ่มตามคะแนนที่ได้อย่างคร่าว ๆ เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มที่มีสมรรถนะสูง ได้แก่ สิงคโปร์ เพียงประเทศเดียว
2. กลุ่มที่มีสมรรถนะปานกลาง ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ
3. กลุ่มที่มีสมรรถนะต่ำ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ตามลำดับ
นอกจากการแบ่งกลุ่มอย่างคร่าว ๆ แล้ว ถ้าพิจารณาจากคะแนนของแต่ละประเทศจะเห็นว่า ประเทศที่มีคะแนนสูงสุดในกลุ่มอาเซียนคือสิงคโปร์ มีคะแนนเป็น 3 เท่าของประเทศที่มีคะแนนต่ำสุดคือเมียนมา และถ้าพิจารณาจากอันดับโลกจะเห็นว่าสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 4 ในขณะที่เมียนมาอยู่ในอันดับที่ 164 ต่างกับสิงคโปร์ถึง 160 อันดับ สำหรับไทยซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน และอันดับที่ 78 ของโลกนั้น เมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มสมรรถนะปานกลางด้วยกันพอจะกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง ส่วนการเปลี่ยนแปลงค่าดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นเกือบทุกประเทศสมาชิก ยกเว้นบรูไน ที่เปลี่ยนแปลงในทางลบเล็กน้อย
การที่แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนได้กำหนดประเด็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การทำการประสานกันเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมและฐานข้อมูล ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชายฝั่งและทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และอื่น ๆ จะเห็นว่านอกจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันในด้านการปกป้องและการจัดการทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อมกันค่อนข้างมาก แสดงดังดัชนีที่ปรากฏในตาราง การกำหนดประเด็นความร่วมมือเป็นลักษณะของการ "ประสาน และ "ส่งเสริม ทั้งสิ้น ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าทุกประเทศสมาชิกอาเซียน "ต้อง ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน ซึ่งอาจจะทำให้การให้ความร่วมมือกันในด้านสิ่งแวดล้อมในประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนขาดความเข้มข้น เข้มแข็งเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของบางประเทศในอาเซียนอาจทำให้บางประเด็นความร่วมมือทางด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากบางประเทศ เช่น ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเลอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชายฝั่งและทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่บางประเทศที่มีพรมแดนติดทะเลก็อาจจะไม่ให้ความสำคัญในประเด็นความร่วมมือนี้มากนัก เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลกำลังพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นต้น
ความสำเร็จในเรื่องการปกป้องและการจัดการสิ่งแวดล้อมในประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนหลังจากการรวมตัวกันอย่างสมบูรณ์เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2558 แล้ว จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จริงจังค่อนข้างยาก
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ
กรมประชาสัมพันธ์