เวียดนาม หนึ่งในสมาชิกอาเซียนที่กำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติ ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย อีกทั้งยังโดดเด่นในเรื่องกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงสร้างเศรษฐกิจของเวียดนามพึ่งพาภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่43% และ 38% ของ GDP ตามลำดับ ทั้งยังพึ่งพาเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศนี้
คู่มือการทำธุรกิจ โดยฝ่ายวิจัยการลงทุนของธนาคารกรุงเทพ มองว่ารูปแบบการลงทุนในเวียดนาม มี 4 รูปแบบ ได้แก่
1) กิจการที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด
คือ กิจการที่มีการลงทุนโดยตรงจากชาวต่างชาติ 100% ซึ่งจะมีสถานะเป็นบริษัทจำกัดตาม โดยผู้ลงทุนจะมีอำนาจในการบริหารอย่างเต็มที่ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
2) กิจการร่วมทุน ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนก่อตั้งจาก MPI หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนักลงทุนต่างชาติต้องมีสัดส่วนการลงทุนในกิจการนั้น ๆ ไม่ต่ำกว่า 30% และให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเวียดนาม โดยมีระยะเวลาของสัญญาไม่เกิน 50 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินลงทุน
3) สัญญาร่วมทุนธุรกิจ (Business Co-operation Contract : BCC) เป็นการร่วมทุนทำธุรกิจระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนเวียดนาม ซึ่งสามารถมีได้มากกว่า 1 ราย โดยจะไม่ถือว่าเป็นการจัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ แต่เป็นการสร้างความผูกพันโดยสัญญาของโครงการนั้น ๆ อีกทั้งยังใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ได้ผลกำไรที่ชัดเจน นักลงทุนต่างชาติสามารถโอนกำไรกลับประเทศค่อนข้างง่าย (เหมาะกับ SMEs) เพราะการลงทุนประเภทนี้จะไม่บังคับเรื่องสัดส่วนการลงทุนขั้นต่ำ
4) กิจการที่ทำสัญญากับรัฐบาล คือ เป็นการลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนามโดยเป็นการร่วมทุนระหว่างหน่วยงานราชการกับนักลงทุนต่างชาติ(อาจเป็นบริษัทต่างชาติ หรือ หน่วยงานเวียดนามเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทสัญญา ดังนี้
4.1 การลงทุน BOT ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนด้านสิ่งก่อสร้าง เช่น ระบบสาธารณูปโภค โดยนักลงทุนต่างชาติต้องโอนกรรมสิทธิ์เป็นของรัฐบาล โดยปราศจากการเรียกร้องค่าทดแทนใด ๆ
4.2 สัญญา BTO นักลงทุนต่างชาติต้องโอนกรรมสิทธิ์สิ่งก่อสร้างให้รัฐบาลเวียดนามก่อน จากนั้นรัฐบาลจึงอนุญาตให้นักลงทุนดำเนินการ ภายในช่วงเวลาที่กำหนดในสัญญา
4.3 BT เป็นการลงทุนโดยรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งจะเป็นผู้อนุมัติให้นักลงทุนต่างชาติสร้างสิ่งก่อสร้าง และเมื่อเสร็จสิ้นจะต้องโอนคืนให้แก่รัฐบาลทันที ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนรูปแบบการลงทุนแบบร่วมทุนมากที่สุด เพราะมีข้อดีในแง่ความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการ โดยอาศัยช่องทางของผู้ร่วมทุนท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี ควรพึงระวังในแง่การพิจารณาผู้ร่วมทุน รวมไปถึงความเสี่ยงในเรื่องการขัดแย้งหุ้นส่วน โดยมีธุรกิจที่น่าสนใจ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโรงแรม รีสอร์ต อุตสาหกรรมร้านอาหาร และสินค้าอุปโภค-บริโภค เพราะนอกเหนือจากที่ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นแล้ว สินค้าไทยยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
|