รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลือนเศรษฐกิจ ยุคใหม่ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอกว่า โลกทุกวันนี้ข้อมูลทุกอย่างอยู่บนเวิลด์ไวด์เว็บ (www) รัฐบาลจึงเดินหน้าผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตและใช้ข้อมูลจากเวิลด์ไวด์เว็บอย่างแพร่หลายด้วยต้นทุนที่ถูกลง พร้อมกับจัดทำฐานข้อมูลเพื่อรองรับการทำธุรกิจ มีผู้ให้คำแนะนำการใช้ระบบต่าง ๆ ซึ่งจะเอื้อต่อการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ การก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องเตรียมการด้านต่าง ๆ ได้แก่
1. การสร้างบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงในต้นทุนที่ถูกลงด้วยลากสายใยแก้วนำแสงเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะดึงเอกชนและรัฐมารวมกันแล้วตั้งเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่ง เป็นเจ้าของเนชั่นแนลบรอดแบนด์ทั้งหมด เป็นการรวมสายไฟเบอร์ออปติกที่อยู่ในมือทั้งรัฐและเอกชน แปลงสินทรัพย์เป็นทุนแล้วเป็นเจ้าของตามสัดส่วนของทุน จากนั้น จ้างมืออาชีพมาบริหารคาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการ 6 - 7 เดือน จากนั้น ใช้เวลาลากสายไปทุกหมู่บ้านอีกประมาณ 1 ปี นั่นหมายถึงอีกประมาณปีครึ่งจากนี้ทุกบ้านจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
2. เตรียมดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่จะรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กสอ. ทั้งข้อมูลด้านการตลาดการผลิต การบริหารจัดการ ระบบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ รวมทั้งข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ เช่น คำแนะนำการสร้างเว็บอีคอมเมิร์ซ การค้าขายออนไลน์ ฯลฯ
3. เพิ่มเนชั่นแนล เกตเวย์ที่เพียงพอ จากปัจจุบันประเทศไทยมีเพียง 2 เกตเวย์ ซึ่งทำให้การไหลของข้อมูลยังช้าอาจจะต้องลงทุนเพิ่มเป็น 10 เกตเวย์ เพื่อให้การไหลของข้อมูลเร็วขึ้นรองรับการส่งออก-นำเข้าข้อมูลที่มีมากขึ้น
4. เตรียมการด้านกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรม การค้า-ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเกิดประเด็นข้อขัดแย้งสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ซึ่งความคืบหน้าของกฎหมายขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
5. เรื่องของเงินทุน รัฐบาลจะผลักดันให้มีกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่ใช้แนวทางดังกล่าวผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่จำนวนมาก
นอกจากนี้ รัฐบาลจะเตรียมการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลให้ครบวงจร โดยตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สถาบันการเงิน ราชการทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม ไอซีที กระทรวงศึกษา ตัวแทนบริษัทเอกชน เพื่อระดมสมองพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด
จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้แนวคิดดิจิทัลเอสเอ็มอี ผ่านกิจกรรมหลัก 5 โครงการ ได้แก่
1. ส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล
2. เอสเอ็มอีอัจฉริยะ
3. การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการโอท็อป
4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิทัล และ
5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์
โดยตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 2,500 กิจการ และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนทางธุรกิจได้จริง หัวใจหลักของการพัฒนาธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล คือ ผู้ประกอบการต้องมี knowledge economy และ Creative economy คือ ต้องมีทั้งพื้นฐานความรู้ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการทาธุรกิจด้วย เมื่อรวมกันแล้วนำความรู้ดิจิทัลมาใช้ต่อยอดจะทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดผลมากขึ้น
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ |