ถนนทางด่วนเส้นทางย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ความยาวทั้งสิ้น
589 กิโลเมตร ซึ่งเปิดใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 เป็นการเชื่อมโยงภาคกับเมืองที่สำคัญในเมียนมาหลายแห่ง อาทิ
กรุงย่างกุ้ง กรุงเนปิดอ ภาคพะโค ภาคมะก่วย ภาคสะกาย และภาคมัณฑะเลย์
เส้นทางสายนี้เชื่อมเมืองที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่
2 อันดับแรกของเมียนมาเข้าด้วยกันคือกรุงย่างกุ้งกับเมืองมัณฑะเลย์
และยังเชื่อมโยงกับเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในภูมิภาค ได้แก่ เส้นทางบนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันออก
(East-West Economic
Corridor-EWEC) โครงการทางหลวงเชื่อมอินเดีย เมียนมา
และไทย (India-Myanmar-Thailand
Trilateral Highway) และทางหลวงเอเชีย (Asian Highway) เพื่อประโยชน์ด้านการส่งเสริม การค้า การลงทุน การขนส่งและโลจิสติกส์
อีกทั้ง การสร้างเสริมคุณภาพของชีวิตให้แก่ประชาชนตลอดเส้นทาง
ขณะเดียวกัน
ภาคย่างกุ้งได้มีโครงการก่อสร้างถนนทางด่วนเชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวากับถนนทางด่วนย่างกุ้งมัณฑะเลย์เส้นนี้ด้วยความยาว
57.8 กิโลเมตร
ถนนเส้นนี้ยังส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม
ซึ่งเมื่อ ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 66.4 เดินทางโดยเส้นทางนี้ไปยังกรุงย่างกุ้ง
และเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งมีการเชื่อมไปสู่เมืองมรดกโลกของเมียนมา 2 แห่ง ได้แก่
เมืองแป และเมืองพุกาม และเมืองโบราณสถานแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเมียนมาอื่นๆด้วย
เช่น เมืองอังวะ เมืองมินกุน เมืองหงสาวดี (พะโค)
กระทรวงก่อสร้างเมียนมามีโครงการปรับปรุงถนนทางด่วนเส้นทางย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์
ในวงเงินประมาน 936 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการของ
Project Bank ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลโครงการการลงทุนและพัฒนาที่สำคัญเพื่อตอบสนองการบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืน
เพื่อการพัฒนาภายใต้เป้าหมาย ตามแผนการพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืน (Myanmar Sustainable Development Plan MSDP) เป้าหมายที่ 3
การสร้างงานและการให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจ
และเป้าหมายที่ 5 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นหลังของชาติ และเป็น 1 ใน 19 โครงการตาม Initial Rolling Priority Pipeline of Potential
ASEAN Infrastructure Projects (ด้านคมนาคม พลังงาน
และ ICT) ภายใต้ Master Plan on ASEAN
Connectivity (MPAC) 2025
กระทรวงก่อสร้างเมียนมาคาดว่า
จะเปิดการยื่นซองประกวดราคาภายในปี 2563 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2564 และจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
ที่มา สถานเอกอัครราชทูต
ณ กรุงย่างกุ้ง
|